ลิ้นมังกร / -

กล้วยไม้ลิ้นมังกร เป็นกล้วยไม้ดินที่มีสีสรรสวยงาม มีทั้งสีแดงสด ส้ม เหลือง จนถึงชมพู ขึ้นตามก้อนหินริมลำธารหรือร่องน้ำ บางบริเวณที่ไม่ถูกรบกวนกล้วยไม้ลิ้นมังกรปรากฏให้เห็นเป็นกลุ่มๆ เหมือนช่อดอกไม้ประดับวางเรียงในผืนป่า เป็นแหล่งอาหารของผีเสื้อหางติ่ง และผีเสื้อกลุ่มนี้จะช่วยลิ้นมังกรผสมเกสรสืบต่อพันธุ์ ลิ้นมังกรจะมีน้ำหวานในถุงน้ำหวานที่เป็นงวงยาวเรียวตรงส่วนโคนของกลีบปาก เป็นกล้วยไม้ดินที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้กระถาง แต่ขยายพันธุ์ยากมากชนิดหนึ่ง น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะกำลังถูกรบกวนจากการนำออกมาจากป่าจำนวนมาก จึงเป็นชนิดที่กำลังถูกคุกคาม ประวัติการค้นพบ: ตั้งชื่อโดย Henry Fletcher Hance (1827-1886) นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1866 ในวารสาร Annales des sciences naturelles. Botanique et biologie végétale ที่มาชื่อไทย: คนไทยตั้งชื่อว่ากล้วยไม้ลิ้นมังกร เพราะลักษณะของกลีบปากคล้ายกับลิ้นของมังกร ที่ปลายลิ้นเป็นแฉก ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: กล้วยไม้ดิน ผลัดใบในช่วงแล้ง มีหัวสะสมอาหารรูปขอบขนาน ค่อนข้างแบน ลำต้นเทียมโผล่พ้นดิน สูง ได้ถึง 20 ซม. ใบ รูปรีแกมขอบขนาน สีเขียว เขียวอมน้ำตาล หรือสีกน้ำตาล ปลายใบแหลมถึงแหลมเรียว ขอบใบเรียบหรือหยักเป็นคลื่น ช่อดอกออกที่ปลายยอด มีดอกได้ถึง 10 ดอก กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ กลีบบนรูปไข่แกมสามเหลี่ยม งุ้มคล้ายกลีบดอกบัว กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปขอบขนาน มักบิด กลีบดอกรูปขอบขนาน กลีบปากขนาดใหญ่ สีแดงสด ส้มอมแดง ส้ม เหลือง หรือชมพู แยกเป็นกลีบข้าง 2 กลีบ รูปไข่กลับ ปลายกลม แฉกปลายหยักเว้าเป็น 2 แฉกยอ่ย ส่วนกลางกลีบเรียวแบน มีงวงยาวเรียวเป็นท่อน้ำหวาน เกสรเพศผู้มี 1 อัน มีกลุ่มเรณู 2 อัน แต่ละอันเป็นแท่งรูปกระบอง กลุ่มเรณูย่อยแยกก้อนเล็กๆ เกสรเพศเมียเป็นแท่งยื่นออกไปข้างหน้า มี 2 อัน มีลักษณะใกล้เคียงกับว่านนกเว้ Habenaria carnea เป็นชนิดที่มีความแปรผันสูง มีหลากสี นักพฤกษศาสตร์ส่วนใหญ่รวมเป็นชนิดเดียวกัน นิเวศวิทยา: พบตามป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบเขาที่ต่ำ ริมลำธาร มักขึ้นบนหิน เมื่อถึงฤดูฝนจะแทงหน่อออกมา ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม การกระจายพันธุ์: พม่า จีนตอนใต้ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาคของประเทศ ข้อมูลชีววิทยาอื่นๆ: การผสมเกสรต้องการแมลงเป็นพาหะ พบผีเสื้อหางติ่ง เป็นตัวผสมเกสร มีน้ำหวานเป็นรางวัลให้กับแมลง การติดฝักในธรรมชาติสูงได้ถึง 50% พบการงอกในธรรมชาติในพื้นที่ริมลำธารที่มีแสงประมาณ 50% สถานภาพทางการอนุรักษ์: ยังไม่มีการประเมินสถานภาพ แต่มีการนำออกจากป่าจำนวนมากเพื่อมาจำหน่ายในราคถูก การใช้ประโยชน์: เป็นกล้วยไม้ที่นิยมนำมาปลูกประดับเป็นไม้กระถาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และเพาะขยายค่อนข้างยาก


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Habenaria rhodocheila Hance

ชื่อท้องถิ่น = -

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง